oaziscare
บทความสุขภาพ: ความรู้เพื่อคุณบทความสุขภาพ ครอบคลุมเนื้อหาเเละการให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ และการป้องกันโรคมะเร็ง
วิธีการสื่อสาร และจัดการความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ในผู้ป่วยมะเร็ง
วิธีการสื่อสาร และจัดการความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ในผู้ป่วยมะเร็ง
Highlight
  • ผู้ป่วยมะเร็งและความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด
  • การสื่อสาร คือกุญแจสำคัญในการรับมือ
  • เคล็ดลับในการจัดการความสัมพันธ์เมื่อป่วยเป็นมะเร็ง

  • มะเร็งและการรักษามะเร็งไม่เพียงแต่ส่งผลต่อผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อคนใกล้ชิดในเครือข่ายสังคมของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว กลุ่มเพื่อนสนิท หรือเพื่อนร่วมงาน ไปจนถึงเรื่องของความรู้สึกไม่มั่นคง ความกลัวเกี่ยวกับอนาคต ความทุกข์ทรมานทางร่างกาย และการเปลี่ยนแปลงสมรรถภาพทางร่างกาย ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลให้บทบาทและความสัมพันธ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นสถานภาพทางอาชีพ ความสามารถในการทำกิจกรรมยามว่างที่เคยชื่นชอบ หรือปฏิสัมพันธ์ในฐานะคู่ครองและสมาชิกครอบครัว


    การสื่อสาร กุญแจสำคัญในการรับมือ

    การเข้าสังคมและการใช้เวลากับคนที่รักเป็นเหมือนกับยารักษาอีกขนาน ซึ่งเปรียบเสมือนการเสริมสร้างกำลังใจและเป็นการสนับสนุนที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีความสุขแม้จะอยู่ในช่วงเวลาที่ลำบาก ความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพสามารถเบี่ยงเบนความสนใจจากความเครียด ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมีความสุขและสงบมากขึ้นในระหว่างที่ต้องเผชิญกับโรคร้าย


    อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังที่สูงต่อปฏิกิริยาของคนใกล้ชิดอาจส่งผลเสียได้ เนื่องจากแต่ละคน ตอบสนองต่อความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรมแตกต่างกันไป การสื่อสารที่ไม่เข้าใจซึ่งกันและกันอาจทำให้เกิดความเครียดและความขัดแย้งขึ้นได้


    ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งอาจพยายามสนทนากับคู่สมรสหรือครอบครัวเกี่ยวกับความกังวลว่า การรักษาอาจจะไม่ประสบผลสำเร็จ คู่สมรสหรือครอบครัวซึ่งมีความตั้งใจที่จะปกป้องผู้ป่วยจากความรู้สึกเชิงลบ อาจพยายามหาวิธีต่างๆ เพื่อช่วยลดความกังวลนั้น ถึงแม้ว่าความพยายามนี้จะเกิดขึ้นจากเจตนาที่ดี แต่บางครั้งอาจถูกตีความผิดว่าเป็นการปฏิเสธหรือไม่ยอมรับความกังวลของผู้ป่วย ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกันในที่สุด


    ดังนั้น การสื่อสารจึงมีความสำคัญยิ่ง การสื่อสารที่ไม่ชัดเจนหรือเข้าใจไม่ตรงกัน อาจทำให้ความรู้สึกหรือความตั้งใจของทั้งสองฝ่ายไม่ถูกถ่ายทอดอย่างถูกต้อง การพัฒนาทักษะการสื่อสารระหว่างกัน รวมถึงการสังเกตและตีความของภาษากายของอีกฝ่าย จะช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้นและสามารถหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้นได้


    เคล็ดลับในการจัดการความสัมพันธ์เมื่อป่วยเป็นมะเร็ง
    1. การสื่อสารเป็นกุญแจสำคัญ เปิดอกพูดคุยกันด้วยความเห็นอกเห็นใจ ช่วยให้ความกลัวและความกังวลใจที่ซ่อนอยู่เผยออกมา ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการจัดการความรู้สึกเหล่านี้ ไม่ควรสะสมความรู้สึกด้านลบไว้ เพราะจะไม่เป็นผลดีกับความสัมพันธ์
    2. เข้าใจปฏิกิริยาของผู้อื่น หลายคนเลือกที่จะแสดงออกแต่ด้านบวกและเก็บความรู้สึกด้านลบไว้ในใจ หากคุณหรือคนใกล้ชิดยังไม่พร้อมที่จะพูดคุยถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ควรบอกไปตรงๆ เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจและเคารพการตัดสินใจของคุณ
    3. อย่าเก็บปัญหาไว้คนเดียว การรับมือกับโรคมะเร็งทำให้ชีวิตมีความกังวลเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเงิน งาน หรือปัญหาทั่วไปที่พบเจอในแต่ละวัน ทางออกที่ดีคือ ควรแบ่งปันและช่วยกันแก้ไขปัญหา อย่างที่เคยทำกันเสมอมา
    4. การพูดคุยช่วยบรรเทาความเครียด การพูดคุยถึงข้อกังวลใจไม่เพียงแต่ช่วยบรรเทาความเครียดลงได้ แต่ยังช่วยทำให้คุณรู้สึกว่าควบคุมสิ่งต่างๆได้มากขึ้น แม้มีความกังวลเรื่องสุขภาพ โภชนาการ หรืออนาคต การพูดคุยสามารถช่วยจัดลำดับความสำคัญและช่วยหาทางออกที่ดีที่สุดได้
    5. สังเกตสัญญาณความล้มเหลวในการสื่อสาร การสังเกตอารมณ์และภาษากายของกันและกันในระหว่างการสนทนามีความสำคัญ เมื่อเริ่มเห็นสัญญาณด้านลบ เช่น การใช้เสียงสูง การพูดด้วยถ้อยคำที่ทำร้ายจิตใจ หรือการเงียบใส่กัน ควรหยุดพักการสนทนาไว้ก่อนเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น
    6. มองหาการสนับสนุน การมีชีวิตอยู่ร่วมกับโรคมะเร็งอาจสร้างความเครียดที่ท้าทายต่อความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาที่ยาวนาน ความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งความรู้สึกผิด โกรธ และความเจ็บปวด หากสถานการณ์เริ่มยากลำบาก ให้มองหาความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญหรือคนใกล้ชิด

    การมีความสัมพันธ์ที่แข็งแรงและสนับสนุนซึ่งกันและกันจะช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการต่อสู้กับโรค และเตรียมพร้อมรับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถเพิ่มโอกาสในการฟื้นฟูสภาพร่างกายให้กลับมาเป็นปกติได้ในอนาคต



    อ้างอิง
    1. The Maggie Keswick Jencks Cancer Caring Centres Trust. Personal relationships. https://www.maggies.org/cancer-support/managing-socially/personal-relationships-and-cancer/. Accessed March 2022
    2. Psychology Today, Sussex Publishers, LLC. Cancer and Relationships. https://www.psychologytoday.com/ca/blog/beyond-treatment/201702/cancer-and-relationships. Accessed February 2017
    3. American Society of Clinical Oncology (ASCO). How Cancer Affects Family Life. https://www.cancer.net/coping-with-cancer/talking-with-family-and-friends/how-cancer-affects-family-life) . Accessed September 2021
    4. City of Hope, USA. 10 tips for keeping relationships strong through the cancer journey. https://www.cancercenter.com/community/blog/2016/02/10-tips-for-keeping-relationships-strong-through-the-cancer-journey. Accessed February 2016
    5. Macmillan Cancer Support. How cancer treatment can affect your relationships. https://www.macmillan.org.uk/cancer-information-and-support/treatment/coping-with-treatment/relationships.Accessed January 2019

    TH-20199
    บทความสุขภาพ อื่นๆ ที่คุณควรอ่าน
    ติดต่อเรา Email: oaziscare@docquity.com Line Official: @oaziscare Tel: 02-080-0666

    ข้อมูลในเว็บไซต์นี้ จัดทำโดย บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อการศึกษาเท่านั้นและไม่ควรใช้อ้างอิงในการปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ ข้อมูลจากเว็บไซต์นี้ไม่ควรใช้อ้างอิงในการวินิจฉัยหรือรักษาปัญหาสุขภาพใดๆ หากคุณมีคำถามที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพของคุณ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

    เกี่ยวกับเรา
    Privacy Policy
    Setting Cookie
    Legal Terms and Conditions