oaziscare
บทความสุขภาพ: ความรู้เพื่อคุณบทความสุขภาพ ครอบคลุมเนื้อหาเเละการให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ และการป้องกันโรคมะเร็ง
วิธีรับมือ เเละดูเเลจิตใจ เพื่อก้าวข้ามความกลัว เเละภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคมะเร็ง
วิธีรับมือ เเละดูเเลจิตใจ เพื่อก้าวข้ามความกลัว เเละภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคมะเร็ง
Highlight
  • ผู้ป่วยมะเร็ง กับการดูแลจิตใจ
  • ครอบครัวคนใกล้ชิด หรือผู้ดูแล (Caregiver) เเรงซัพพอร์ตที่ไม่ควรมองข้าม
  • วิธีรับมือ เเละตัวช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับสภาพจิตใจ เพื่อผลการรักษาเเละการดำเนินชีวิตที่ดี

  • เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งอาจก่อให้เกิดหลายความรู้สึกในแง่ลบ ทั้งความเครียด ความทุกข์ใจ ความหวาดกลัวและวิตกกังวลถึงการรักษาและการดูแลตนเองในอนาคต


    ผู้ป่วยมะเร็งจำนวนไม่น้อยอาจไม่ทันได้ตั้งรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่งผลให้สภาพจิตใจดิ่งลงอย่างรวดเร็ว เพราะความรู้สึกในแง่ลบที่ก่อตัวขึ้นเป็นจำนวนมาก และปล่อยให้สุขภาพตัวเองทรุดโทรม จนทำให้เสียโอกาสในการรักษามะเร็งอย่างที่ควรจะเป็น


    ดังนั้น การเตรียมความพร้อมทางจิตใจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยทุกคนไม่ควรมองข้าม เพราะจะช่วยให้รับมือกับโรคมะเร็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ เริ่มตั้งแต่หลังได้รับการวินิจฉัย เข้าสู่ขั้นตอนการรักษา และเมื่อการรักษาสิ้นสุดลง


    ผู้ป่วยมะเร็ง กับการดูแลจิตใจ

    เมื่อทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคมะเร็งอาจทำให้รู้สึกวิตกกังวล โดดเดี่ยว หวาดกลัว เครียด ซึมเศร้า หรือรู้สึกผิดกับตัวเองและครอบครัว ซึ่งบางอารมณ์อาจเคยเกิดขึ้นหรือไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยไม่รู้วิธีการรับมือกับอารมณ์และความรู้สึกเหล่านั้น


    เเต่สิ่งสำคัญคือ ผู้ป่วยมะเร็งควรมีความหวังอยู่เสมอ และไม่โทษตัวเองเรื่องที่เป็นมะเร็ง อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถรับมือกับอารมณ์เหล่านี้ได้ การพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม นั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรทำอย่างยิ่ง การพูดคุยกับนักบำบัดความเครียด หรือนักจิตวิทยา ถือเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องรอให้ตัวเองบอบช้ำจนต้องพบแพทย์


    นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะนอกจากจะช่วยเสริมความแข็งแรง ให้ร่างกายเพื่อเตรียมพร้อมรับการรักษาแล้ว ยังช่วยลดความเครียดได้เป็นอย่างดี ช่วยให้คุณภาพการนอนหลับ เเละกินอาหารได้ดีขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยลดผลข้างเคียงจากการรักษาได้


    ครอบครัว คนใกล้ชิด หรือผู้ดูแล (Caregiver) เเรงซัพอร์ตใกล้ตัวคนสำคัญ

    นอกจากตัวของผู้ป่วยเองแล้ว การมีส่วนร่วมของครอบครัว คนใกล้ชิด หรือผู้ดูแลเองก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน หากทราบว่าคนใกล้ชิดเป็นมะเร็ง การให้ความช่วยเหลือ คอยรับฟังและเป็นที่พักพิงทางจิตใจรวมถึงไปพบแพทย์พร้อมกับผู้ป่วยก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากปล่อยให้ผู้ป่วยเผชิญปัญหาเพียงลำพังด้วยตัวเอง อาจเกิดความเครียด วิตกกังวล เเละ รับข้อมูลมาไม่ครบถ้วนได้


    อย่างไรก็ตาม ครอบครัวหรือคนใกล้ชิดเองก็จำเป็นที่จะต้องทบทวนและคอยเช็คสภาพจิตใจ และอารมณ์ของตัวเองอยู่เสมอด้วยเช่นกัน เพราะอาจจะได้รับความเครียดและความเหนื่อยล้าทางร่างกาย สะสมโดยไม่รู้ตัว การดูแลร่างกายและจัดการสภาพจิตใจให้ดีอยู่เสมอของผู้ใกล้ชิด จะช่วยส่งเสริมสุขภาพของตัวเองและผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้


    ดังนั้น ควรหาเวลาเพื่อเยียวยาตัวเอง โดยการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ หรือหากิจกรรมบำบัดต่างๆ เป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำ เมื่อรู้ตัวว่าตนเองต้องการได้รับความช่วยเหลือ


    มองหาช่วงเวลาที่เป็นสุข เเละรับมือก้าวข้ามความกลัว

    การรักษาโรคมะเร็งไม่ได้มีแต่เรื่องแย่ๆเสมอไป อาจมีช่วงเวลาของความทุกข์ใจหรือความเศร้าเกิดขึ้น ในทางกลับกันบางครั้งเราอาจพบ ช่วงเวลาแห่งความสุข ความสงบและความสบายใจ ผู้ป่วยจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆเกี่ยวกับตัวเอง หรือได้ใช้เวลา อย่างคุ้มค่า และใกล้ชิดกับคนรอบข้างมากขึ้น


    มีคำแนะนำว่า ผู้ป่วยสามารถจัดการกับความรู้สึก หรืออารมณ์ที่เกิดขึ้นได้โดยการทำในสิ่งที่ตนเอง รู้สึกสนุกและมีความสุข โดยให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราควบคุมได้ แม้ว่าเรื่องเหล่านั้นจะไม่เกี่ยวข้องกับ สุขภาพของเราเลยก็ตาม


    ตั้งแต่การเริ่มต้นวางแผนรายวันไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเล็กน้อย การหาเวลาให้กับด้านอื่น ของชีวิตที่อาจเป็นประโยชน์ หรือทำกิจกรรมที่ช่วยให้จิตใจสงบ และไม่ต้องมาจดจ่อกับอาการป่วยของตัวเอง เพราะสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีนั้นเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าอารมณ์ด้านลบจะรุนแรง แต่ลองลืมมันไปบ้างก็ได้ แล้วใช้เวลาเพลิดเพลินไปกับช่วงเวลาความสุขที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ที่อาจซ่อนอยู่รอบตัว


    ดังนั้น ควรหาเวลาให้ตนเองได้มองหาความสุขในชีวิตด้วย เพราะการมีจิตใจที่เข้มแข็งและแจ่มใสจะช่วยให้รับมือกับโรคมะเร็งได้ดี ส่งผลต่อสุขภาพจิต และการมีคุณภาพชีวิต โดยรวมที่ดีขึ้นได้นั่นเอง



    อ้างอิง
    สถาบันมะเร็งเเห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา . https://www.cancer.gov/about-cancer/coping/feelings. Accessed September 2021
    ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ประเทศสหรัฐอเมริกา . https://www.cdc.gov/cancer/survivors/caregivers/helping-cancer-survivors-stay-mentally-emotionally-healthy.htm.Accessed September 2021
    ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ โรเชสเตอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา . https://www.urmc.rochester.edu/news/story/cancer-and-your-mental-health-tips-from-an-expert-in-oncology-and-psychiatry. Accessed September 2021
    โรงพยาบาลเชสเตอร์เคาน์ตี้ มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย .https://www.chestercountyhospital.org/news/health-eliving-blog/2023/june/cancer-and-mental-health . Accessed September 2021
    มูลนิธิการวิจัยโรคมะเร็งสหราชอาณาจักร .https.://www.cancerresearchuk.org/about-cancer/coping/mental-health-cancer/when-diagnose. Accessed September 2021

    TH-19839
    บทความสุขภาพ อื่นๆ ที่คุณควรอ่าน
    ติดต่อเรา Email: oaziscare@docquity.com Line Official: @oaziscare Tel: 02-080-0666

    ข้อมูลในเว็บไซต์นี้ จัดทำโดย บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อการศึกษาเท่านั้นและไม่ควรใช้อ้างอิงในการปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ ข้อมูลจากเว็บไซต์นี้ไม่ควรใช้อ้างอิงในการวินิจฉัยหรือรักษาปัญหาสุขภาพใดๆ หากคุณมีคำถามที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพของคุณ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

    เกี่ยวกับเรา
    Privacy Policy
    Setting Cookie
    Legal Terms and Conditions